9 ข้อเกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ไว้

บริการจดทะเบียนภาษี

9 ข้อเกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ไว้ จะได้ไม่โดนสรรพากรเล่นงานภายหลัง



ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นอีกหนึ่งปัญหาภาษีที่มักจะมีคำถามที่ถามกันเข้ามาบ่อย ๆ  ไ่ม่ว่าจะจดทะเบียนอย่างไร
แบบไหนต้องจดบ้าง รายได้แบบไหนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการหน้าที่หลังจากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วต้องทำอย่างไร
บทความนี้รวบรวมทุกคำถามที่เจ้าของธุรกิจควรรู้มาอธิบายให้ฟังครับ

หนึ่งในปัญหาภาษีของคนทำธุรกิจ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่มักเรียกเก็บจากผู้ขายสินค้าและให้บริการในประเทศ

9 ข้อคำถามที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม


1. ภาษีมูลค่าเพิ่มจดเมื่อไหร่

ถ้าให้ตอบง่ายที่สุดคือ จดได้เมื่ออยากจดครับ ถ้ากิจการเราประกอบธุรกิจที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีความต้องการใช้ภาษีซื้อเพื่อมาหักจากยอดภาษีขาย
การจดยิ่งไวยิ่งดีครับ แต่ถ้าไม่ได้รีบมาก เราจะถูกกฎหมายบังคับให้จดเมื่อมีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทในระหว่างปี ถ้าปีไหนถึงเกณฑ์นี้ แปลว่าเรามีภาระหน้าที่
ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทันที


2. รายได้ 1.8 ล้านบาทนี้ หมายถึงรายได้จากอะไรบ้าง

หลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีรายได้ 2 ประเภทครับ นั่นคือ รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กับ รายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การนับยอด 1.8 ล้านบาท จะนับเมื่อมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมแล้วเกิน 1.8 ล้านบาท โดยไม่นับยอดของรายได้ที่ได้รับยกเว้น

3. นับคนเดียว หรือนับผู้ร่วมประกอบการด้วย กรณีร่วมด้วยช่วยกัน

การนับรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะนับรวมในรูปแบบของการประกอบการครับ คือ ถ้าการประกอบการนั้นเกิดร่วมกัน
เช่น ผู้ร่วมประกอบการช่วยกันประกอบธุรกิจขายอาหารออนไลน์ แบบนี้จะนับรายได้ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันจากการประกอบกิจการนี้ว่าถึง
1.8 ล้านบาทไหม ถ้ายังไม่ถึงก็เลือกที่จะไม่จดได้

4. บุคคลธรรมดาก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม?

หลายคนมักจะสับสนระหว่าง รูปแบบของธุรกิจ กับ การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ครับ โดยรูปแบบธุรกิจจะเกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้ เช่น บุคคลธรรมดา เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ในกรณีของภาษีมูลค่าเพิ่ม จะมองตามการประกอบการของผู้ประกอบการรายนั้นๆ โดยไม่ได้สนใจรูปแบบของธุรกิจ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

5. มีรายได้ประจำ รายได้เสริม รวมกันไหม?

ถ้ารายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันแล้วถึง 1.8 ล้านบาท แบบนี้ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง

6. มีหลายสาขา นับรวมนับแยก


การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดูเป็นการประกอบการ ถ้าหลายสาขาที่ว่าเป็นชื่อของเราก็ถือว่าเป็นกิจการเดียวกัน ดังนั้นก็นับยอดรวม
แต่ถ้าแต่ละสาขามีคนรับผิดชอบหรือเจ้าของต่างกันไป อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาขาไหนจะยอดถึงเกณฑ์ที่ต้องจด

7. จดที่ไหน

การจดทะเบียนทุกวันนี้สามารถทำได้ 2 ช่องทางครับ ติดต่อผ่านทางสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือ
จดทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้เลยครับ ที่หน้า บริการ VAT SBT ONLINE

โดยการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์นั้นมีความผิดตามกฎหมาย
หากถูกตรวจสอบพบนอกจากภาษีที่ต้องชำระแล้ว ผู้ประกอบการยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเบี้ยปรับ
(มากที่สุดคือ 2 เท่าของภาษีที่ชำระ) และ เงินเพิ่ม (1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ) อีกด้วย

8. จดแล้วต้องทำอะไรบ้าง

หลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่หลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ

จัดทำใบกำกับภาษี โดยออกทุกครั้งเมื่อขายสินค้าหรือให้บริการและเกิดจุดความรับผิดทางด้านภาษี เช่น ขายสินค้า = ส่งมอบ หรือ บริการ = ชำระเงิน
จัดทำรายงานที่เกี่ยวข้อง รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และ รายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ
นำยอดภาษีขาย (ที่เราออก) มาหักด้วยภาษีซื้อ (ที่จ่ายไป) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แบบ ภ.พ. 30 ในทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (อาจมีขยายเวลาบางกรณี)

9. ถ้าวันหนึ่งอยากออกจากระบบต้องทำยังไง

การออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะสามารถออกได้เมื่อมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทไม่น้อยกว่า 3 ปี
โดยสามารถไปจดทะเบียนขอออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.08 คำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม





ดูทั้งหมด ...